ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง

ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระวิริยะอุสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” และสิ่งทอท้องถิ่นที่เกือบสูญหายไให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และขอความร่วมมือให้แต่ละจังหวัดคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด นั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง มีมติเห็นชอบให้ “ลายแก้วชิงดวง” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้านาหมื่นศรี เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง และมีประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน

สำหรับลายผ้า “แก้วชิงดวง” เป็นลายผ้าท้องถิ่นของผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดตรัง การทอผ้าที่บ้านนาหมื่นศรีมีประวัติยาวนาน จากเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน วันที่ 29 มิถุนายน 2458 กล่าวถึงในสมัยที่รัชกาลที่ 6 เสด็จจังหวัดตรังว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑล ได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมาก รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย ในจดหมายเหตุเดียวกันนี้ยังกล่าวถึงการใช้เงินของชาวเมือง ในวันที่ 13 พฤษภาคม ร.ศ.128 โดยยกตัวอย่างการขายผ้าว่า “เวลาบ่ายมีผู้หญิงนำผ้าขึ้นมาขายที่พลับพลา ได้ซื้อไว้ได้คนละหลาย ๆ ผืน ก็พอจะใช้นุ่งได้ ผ้าเช็ดปาก มักขายผืนละ 20 อัฐ ผ้าคาดผืนละ 70 อัฐ” ทั้งยังกล่าวถึงการแต่งกายของชาวตรังไว้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ร.ศ.128 ว่า “ราษฎรที่มาดูโดยมากสวมทั้งชายหญิง ผมทราบว่าเป็นธรรมเนียมพวกผู้หญิงที่เมืองนี้ถ้าไปตลาดต้องสวมเสื้อ โรงเย็บจักรที่นี่มีอยู่ตั้งยี่สิบโรง ซึ่งเป็นพยานอยู่ว่าคนตรังพอใจสวมเสื้ออยู่โดยมาก”การทอผ้าของบ้านนาหมื่นศรีได้ขาดหายไปช่วงหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและฟื้นคืนมาอีกครั้งเมื่อราว พ.ศ.2514 โดยยายนาง ช่วยรอด ยายผอม ขุนทอง ยายอิน เชยชื่นจิตร และยายเฉิ่ม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซมกี่ กับเครื่องมือเก่า ๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมา นางกุศล นิลลออ บุตรสาวของยายนาง เป็นผู้รับช่วงกิจกรรมงานทอผ้า และสืบทอดต่อกันมาจนรุ่นปัจจุบัน

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/RegionNews/RegionNews/Detail/TCATG220121114625788

ข้อมูล

หนังสือ ที่ ตง 0031/ว 1285 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา

 5,136 ผู้เข้าชมทั้งหมด,  1 ผู้เข้าชมวันนี้

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *