Biosphere Design : การออกแบบพื้นที่ชีวิต

กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones : SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม

เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นแนวทางที่สอดคล้องและรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่กำหนดปฏิบัติการ เพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) กำหนดหลักการสำคัญของการพัฒนาประเทศ 4 ประการ ได้แก่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)

การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมีการพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของประเทศไทยที่ได้ลงนามให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี พ.ศ. 2030

SDGs คืออะไร  หลังจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ( Millennium Development Goals – MDGs ) ซึ่งต้องการเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2015 นั้น องค์การสหประชาชาติ จึงจัดทำ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่

เป้าหมาย 17 ข้อ ประกอบด้วย (1) ขจัดความยากจน (2) ขจัดความอดอยาก (3) สุขภาพและความเป็นอยู่ดี (4) การศึกษาคุณภาพ (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำสะอาดและสุขาภิบาล (7) พลังงานสะอาดในราคาที่ซื้อได้ (8) อาชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี (9) อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (10) ลดความเหลื่อมล้ำ (11) นครและชุมชนยั่งยืน (12) การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (13) การปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (14) การใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (15) การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน (16) สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง (17) การร่วมมือกันเพื่อเป้าหมาย

สร้างสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด “ ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

การออกแบบพื้นทีี่ชีวิต : Biosphere Design

ศาสตร์พระราชา

จากแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ

” … พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน โดยตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นคือต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัว

… ทรงใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั่นคือก่อนจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านจารีตประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น และระหว่างการดำเนินการนั้นจะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น “เข้าใจ” เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ “เข้าถึง” ก็เช่นกัน เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้ว จะต้องทำอย่างไรก็ตาม ให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย

… ดังนั้น จะเห็นว่าเป็นการสื่อสารสองทางทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่อง “การพัฒนา” จะลงเอยได้อย่างดี เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายอยากจะเข้าถึงกันแล้ว การพัฒนาจะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้และผู้รับ… ”

“การพัฒนาชนบทเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ ชาวชนบท ต้องพิจารณาปัญหาในส่วนรวมก่อน ทำเมื่อไร ตอบว่า ทำเดี๋ยวนี้ ทำที่ไหน ตอบว่า อยู่ในชื่อของพัฒนาชนบทแล้ว ทำทำไม ตอบว่า ทำเพื่อมนุษยธรรม เมตตาต่อเพื่อนร่วมชาติ เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ เพื่อความปลอดภัยและความก้าวหน้าของบ้านเมือง ทำอย่างไร ตอบว่าเรื่องนี้ปัญหามาก การให้ความต้องการพื้นฐานอย่างถนนหรือชลประทานเป็นเบื้องต้น แต่ความเจริญอื่นๆ ไม่ได้ตามเข้าไปทันทีย่อมเกิดผลร้ายได้ ต้องจัดการให้ความเจริญทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปพร้อมกัน…” พระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานแก่คณะผู้บริหารเร่งรัดพัฒนาชนบทระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2512

หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชนและการพัฒนาคนเป็นสำคัญ นับเป็นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการและกระบวนการคิดบนรากฐานของ ” การเข้าใจมนุษย์ “ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกต (Design Thinking) คือ

  1. EMPATHIZE เข้าใจปัญหา เข้าถึงผู้คนและพื้นที่ “เดือดร้อนเรื่องอะไร” สิ่งที่มักจะตรัสถามเวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่เป็นอันดับแรกควบคู่กับการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพสังคมและภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ สะท้อนให้เห็น วิธีคิดแบบนักสัมคมและมานุษยวิทยา
  2. DEFINE ระบุความต้องการ ความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ จะต้องทำงานร่วมกับความสามารถในการมองความสัมพันธ์โดยรวม เพื่อนำไปสู่การระบุความต้องการที่แท้จริงในขั้นตอนนี้ ทรงแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดแบบนักวิเคราะห์และวิธีคิดเชิงระบบ
  3. IDEATE หาแนวทางแก้ปัญหา เมื่อระบุโจทย์ได้อย่างแม่นยำ การคิดหาทางเลือกจึงสามารถทำได้ ด้วยวิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์และผู้สร้างนวัตกรรมที่ไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ โดยมีตัวช่วยสำคัญคือความรู้ในด้านต่างๆ และการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ดังที่ทรงแสดงให้ประจักษ์แล้วว่า หากมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยกับความรู้และความมุ่งมั่นเพียงพอ มนุษย์ก็ดัดแปรงสภาพอากาศให้ฝนตกลงมาได้
  4. PROTOTYPE พัฒนาต้นแบบ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการออกแบบ คือ การพัฒนา “ต้นแบบ” สำหรับเปลี่ยนความคิดให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งเพื่อทดสอบความคิดตั้งต้นและเพื่อนำไปทดสอบการใช้งานจริง ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยทั้งการค้นคว้าทางด้านเทคนิค และความคิดแบบไม่ยอมแพ้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีคิดแบบนักประดิษฐ์ โดยเราจะเห็นว่าหลักสำคัญของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ความเรียบง่ายและสมเหตุผล อันหมายถึงโอกาสในการนำต้นแบบไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ
  5. TEST ทดสอบ เมื่อได้ต้นแบบแล้ว สิ่งสำคัญในการนำไปใช้จริงก็คือ วิธีคิดแบบนักทำ นั่นหมายถึงการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงในพื้นที่ ด้วยความยึดหยุ่นและหวังผลในทางปฏิบัติ บวกกับการนำความรู้ใหม่มาปรับปรุงต้นแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริง นั่นคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Folk Wisdom หรือ Indigenous Knowledge) มีการบูรณาการเป็นพลวัตรตลอดเวลา เป็นสติปัญญาของมนุษย์ที่สามารถเลือกสร้างสรรค์ความรู้เก่าและความรู้ใหม่ เป็นภูมิปัญญาร่วมสมัย พัฒนาวิถีชีวิความเป็นอยู่ รู้รอดของมนุษย์ให้สมดุล กับความเป็นธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันทางสังคม

ภูมิปัญญา หมายถึง ความคิด ความรู้ ความเชื่อ ที่สั่งสมสืบทอดต่อๆกันมาจากประสบการณ์ บทเรียน ที่กลั่นกรองอย่างมีแบบแผน อยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า มีมูลค่า มีความเฉลียวฉลาดสามารถปราดเปรื่อง สกัดความรู้เดิมที่อยู่ในตัวคนเป็นองค์ความรู้ใหม่ ประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ และเป็นมรดกทางปัญญา เช่น ภูมิปัญญาการรักษาป่า ภูมิปัญญารักษาแม่น้ำ ภูมิปัญญารักษาและฟื้นฟูสภาพดิน ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 46 กำหนดไว้ว่า “ให้บุคคลซึ่งรวมกันเป็นท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิปละหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน”

ภูมิปัญญาไทย แบ่งได้ 11 สาขา คือ สาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สาขาแพทย์แผนไทย สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขากองทุนและะุรกิจชุมชน สาขาสวัสดิการ สาขาศิลปกรรม สาขาการจัดการองค์กร สาขาภาษาและวรรณกรรม สาขาศาสนาและประเพณี สาขาการศึกษา การถ่ายทอดภูมิปัญญาแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ภูมิปัญญาจึงนับเป็นความคิดทางสัมคม (Socail Thought) ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ระบบภูมิปัญญามีลักษระสำคัญ 4 ประการ คือ 1.ความรู้และระบบความรู้ 2.การสั่งสมและการเข้าถึงความรู้ 3.การถ่ายทอดความรู้และระบบความรู้ 4.การสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาความรู้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสืบเนื่องภูมิปัญญา คือ 1.ความรู้เดิมในเรื่องนั้นๆผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ 2.การสั่งสม การสืบทอดความรู้ในเรื่องนั้น 3.ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ใหม่ได้ 4.สถานการณ์ที่ไม่มั่นคงหรืิอมีปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ 5.รากฐานทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมและความเชื่อ 6.การถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน

บุญของคนไทย

มีเรื่องราวมากมายในประเทศไทยที่เราไม่รู้ หรืออาจคาดไม่ถึง เป็นเพราะการทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทุกวันที่ผ่านไปของคนไทยบนแผ่นดินนี้ คือ ความสุขสบายบนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ทุกวันที่ผ่านมา คือ การทรงงานหนักและการคิดค้น ( K.I.N.G : K = Knowledge, I = Innovation, N = Nature, G = Great ) เพื่อหาวิธีทำให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ร่มเย็นเป็นสุข เปรียบได้กับ พ่อ ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกๆ อยู่สุขสบายในบ้านหลังนี้ ไม่เพียงคนไทยที่ไม่อยากจากแผ่นดินไทยไปอยู่ที่อื่น เรายังได้เห็นชาวต่างชาติมากมายที่เข้ามาทำงาน เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีความประทับใจในบ้านเมืองของเรา และสุดท้ายก็ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย

K = Knowledge ความรู้คู่พระบารมี การศึกษาพระราชทาน

โครงการแกล้งดิน – แกล้งดินให้เป็นดาว | โครงการบึงมักกะสัน – ผักตบรบน้ำเสีย | ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสีย – พระจันทร์ไล่น้ำ | ทฤษฎีการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ – น้ำไหลไฟดับ | โครงการแก้มลิง – ลิงบันดาลใจ | ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง – คู่มือการใช้ชีวิตแบบพอดี – พอดี | เกษตรทฤษฎีใหม่ – วิชาบริหารพื้นที่อย่างชาญฉลาด | โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ – มันดีมาก | โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ – โรงเรียนของเราน่าอยู่ | ทุนพระราชทาน – เงินทุนจากพ่อ | โครงการพระดาบส – เรียนรู้โลกนอกห้องเรียน | โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา – ความอุดมสมบูรณ์เริ่มต้นที่นี่ | โครงการป่าไม้สาธิต – ป่าผืนแรกในพระราชดำริ | โครงการนาข้าวทดลอง – ในน้ำมีปลา ในวังมีข้าว | โครงการปลาหมอเทศและปลานิล – ปลาพระราชทาน | โครงการเกี่ยวกับนม – นมสดของคนไทย | โครงการทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง – จากไร่อ้อยสู่พลังงานยั่งยืน | โครงการเกี่ยวกับผลผลิตการเกษตร – เพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรรมไทย | ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ – พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต | โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน – ความรู้กึ่งสำเร็จรูป

I = Innovation จุดประกายพัฒนา หน่วยงานพระราชดำริ

กังหันน้ำชัยพัฒนา – เติมลมหายใจให้แหล่งน้ำ | ฝนหลวง – ปฏิบัติการปั้นเมฆเป็นตัว | เสาวิทยุและสายอากาศสุธี – เสียงจากคนไกล | ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี – เมื่อทางสะดวก | สะพานแขวนแหวนอุตสาหกรรม – บรรเทาทุกข์ | โครงการปรับปรุงถนนกรุงเทพฯ – หนทางคลี่คลาย | ถนนรัชดาภิเษก – ถนนดำเนินสะดวก | แก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ – เติมความหวังเต็มถัง | ไบโอดีเซล – มองใกล้ๆ แล้วคิดไกลๆ | เครื่องดักหมอก – การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ | เรือใบฝีพระหัตถ์ – ล่องกับเรือ เล่นกับลม | เส้นทางเกลือ – เกลือเปลี่ยนอนาคต | แกลบอัดแท่ง – Back to the Nature | BUDSIR พระไตรปิฎก ฉบับคอมพิวเตอร์ – ธรรมะเดลิเวอรี่ | หน่วยแพทย์พระราชทาน – ยาใจคนไกล | วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก – นิดนึงพอ | โรงสีข้าวตัวอย่างและการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทย – ข้าวของใคร ใครก็หวง | หญ้าแฝก – เส้นหญ้าบังภูเขา | คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) – บำบัดทุกข์ บำรุงสุข | มูลนิธิชัยพัฒนา – หน่วยพิเศษเพื่อการพัฒนา

N = Nature โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจสินค้าการเกษตร

โครงการป่าเปียก – น้ำน้อยชนะไฟ | โครงการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก – อยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ | โครงการปลูกป่าสามอย่าง – ปลูกประโยชน์ | โครงการฝายชะลอน้ำ Check Dam – ฝายชะลอชีวิต | โครงการภูเขาป่า – เข็นน้ำขึ้นภูเขา | โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนและการประมงชายฝั่ง – น้ำพึ่งเรือ คนพึ่งป่า | โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่า – สัตว์ป่าน่ารักษ์ | กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ – ความหวังบนกองขยะ | โครงการชลประทาน – หยอดน้ำใส่กระปุก | โครงการหลวง – ใครว่าท้อไม่ได้ | มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ – พวกเขาไม่ลำบาก | โครงการป้องกันภัยธรรมชาติ – ไม่หวั่นแม้วันมามาก | โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ – ธรรมชาติบำบัด | ผักและผลไม้เมืองหนาว – ปลูกเพื่อเปลี่ยน | ดอกไม้เมืองหนาวและไม้ประดับ – ดอกไม้ให้คุณ | สมุนไพร – ยาบำรุงใจ | ผลิตภัณฑ์แปรรูปตราดอยคำ – ของขวัญจากคนบนดอย | ผลิตภัณฑ์ดอยตุง – จากดอยสู่ดาว | โกลเด้น เพลซ (GOLDEN PLACE) – ร้านค้าทำเลทอง | โครงการธนาคาร โค-กระบือ – เจ้าทุยอยู่ไหน

G = Great พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การสื่อสาร – ทราบ แล้ว เปลี่ยน | ถ่ายภาพ – ภาพถ่ายเพื่อชีวิต | การศึกษา – เรียนเพื่ออนาคต | เกษตรกรรม – เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง | การแพทย์ – สุขกาย สบายใจ | ทหาร – จอมทัพไทย | การปกครอง – พ่อปกครองลูก | ศาสนา – เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม | จิตรกรรม – ศิลปินแห่งชาติ | ประติมากรรม – รูปหล่อเป็นลอง | พลังงาน – ก๊อกสองของน้ำมัน | ต่างประเทศ – ความสำคัญของความสัมพันธ์ | วิศวกรรมและการออกแบบ – ประโยชน์ใช้สวย | อุตุนิยมวิทยา – เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย | วรรณกรรม – งานเขียนของพ่อ | กีฬา – ขวัญใจนักกีฬา | ดนตรี – ดนตรีในหัวใจ | แผนที่ – ตามแผนที่วางไว้ | เศรษฐกิจ – พอเพียงก็เพียงพอ | ครอบครัวและชุมชน – Live Strong

ทศพิธราชธรรม ๑๐ หลักการทรงงานและการน้อมนำมาปฏิบัติ

ทาน – เริ่มต้นจากการให้ อากัปกริยาอันยิ่งใหญ่ของคนไทย คือ การให้ มูลนิธิชัยพัฒนาประกาศไม่เรี่ยไร พระองค์ห้ามไม่ให้มูลนิธินี้เรี่ยไร แล้วถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน พระองค์รับสั่งว่าเวลาที่ไปเรี่ยไรเขา เขาเต็มใจให้หรือเปล่าไม่รู้ เขาให้ด้วยความเกรงใจหรือถูกบังคับมาให้ก็ได้ ถ้าเรี่ยไรเราทำอะไร เราก็ต้องเล่าให้เขาฟัง เมื่อเขาศรัทธาแล้วเขาก็ให้เอง ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุ ให้น้ำใจ ให้รอยยิ้มสักนิดไม่ต้องลงทุนอะไร พบใครก็ยิ้มให้เขา พระองค์นั้นทรงให้หมดทุกอย่าง เคยรับสั่งไว้ครั้งหนึ่งว่า บ้านเมืองเราสามารถรอดมาอยู่ทุกวันนี้ได้แม้ปรากฎการโดมิโน (Domino Effect) มาอยู่ที่เมืองไทยหลังจากเวียดนาม ลาว เขมรแตกสลายแล้ว แต่ก็ไม่มีผลกับไทย สาเหตุเพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่ ซึ่งตรงกับทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ การเป็นข้าราชการที่ดีต้องรักการให้ ให้บริการแก่ประชาชน ให้เวลากับงาน ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีโดยไม่หวังประโยชน์อะไรตอบแทน ทุกคนมีส่วนเกินที่จะให้สังคมทั้งนั้น

ศีล – ศีลเป็นหลักพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราชอบหรือไม่ ให้ใครมาฆ่าเรา ให้มาโกหก ใช้ยาเสพติด ขโมยของ ละเมิดภรรยาและบุตรของเรา แมลงตัวหนึ่งพระองค์ก็ไม่ฆ่า ๓๕ ปี เข้าเฝ้าฯถวายงานมาตลอด ทรงปัดแมลงออก ออกจากป่ามา พระพักตร์ผ่องออกมา พวกเรามีแต่ซากแมลงติดมาเต็มเลย ทากกัดพระองค์ ก็หยุดรถเอาทากปล่อยข้างทาก เพราะฉะนั้น ขอให้ยึดมั่นในศีล ๕ ข้อ

บริจาค – แปลว่า ให้อีกแล้ว ความยิ่งใหญ่อยู่ที่การให้ ต่างกันอย่ารไรระหว่าง ทาน คือ ให้เพื่อให้ไป ไม่สนใจว่าเขาจะให้กลับคืน แต่ บริจาค คือ ให้ของเล็กเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า ยกตัวอย่าง บริจาคคนละ ๕-๑๐ บาท ได้โรงเรียน โรงพยาบาลกลับมา ทุกอย่างทุกครั้งที่เราทำอะไร สำหรับส่วนรวมที่มันใหญ่กว่าตัวเรา อันนี้ คือ ความหมายของ คำว่า บริจาค

ความซื่อตรง – คำนี้ยิ่งใหญ่ เพราะนำมาแก้โรคประจำชาติ ในขณะนี้ เมื่อเราเป็นข้าราชการ เรารับงานจากพระองค์รับสั่งว่า ใครอยากรวยให้ลาออกจากราชการไปประกอบธุรกิจ พระองค์ไม่ทรงห้าม แต่เมื่อตัดสินใจเข้ามารับราชการแล้ว เราต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องและหากเราอยู่อย่างพอดี อยู่อย่างไม่ต้องสนใจอะไรนัก มีเท่าไหร่ก็อยู่เท่านั้น ใครมีฐานะพอเอื้อ อำนวยได้ก็จะอยู่แบบดีหน่อย ใครมีเฉพาะเงินเดือนต้องพยายามบริหารจัดการดีๆ ความจริงก็อยู่ได้ไม่จำเป็นต้องโกง

ความอ่อนโยน – การเป็นผู้นำต้องอ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์ทรงคุกเข่าต่อหน้าประชาชน นั่งพับเพียบกับพื้นคุยกับประชาชน แล้วมาดูที่เราทำได้ไหมทรงทำเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่งภาพ ยายตุ้มที่มาถวายดอกบัวที่เหี่ยวอยู่ในมือ แสดงว่ามารอตั้งแต่เช้าได้เข้าเฝ้าฯ ตอนบ่าย ไม่ประทับนั่งแต่ทรงก้มไปจนพระพักตร์พระองค์กับหน้าของยายตุ้มแทบจะแนบชิดกันเรียบร้อย มารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านทั้งหลายจึงต้องจำไว้ว่า ยิ่งใหญ่เท่าใดสูงเท่าใด ยิ่งต้องลงให้ต่ำเท่านั้น พญาอินทรีเวลาบินอยู่สูงเพียงไรสายตาจะมองข้างล่าง ข้าราชการชั้นผู้น้อยนั้นมองขึ้นข้างบนจะได้รู้นโยบายขององค์กรไปทางไหน นายไปทางไหนจะได้ตามถูก แต่ตัวนายต้องมองข้างล่าง ยิ่งสูงเท่าใด ยิ่งต้องมองต่ำ เพราะ ปัญหาอยู่ข้างล่าง ผู้ร่วมงานอยู่ข้างล่าง

ความเพียร – ตอนบวชอยู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถามอาจารย์เจ้าคุณระแบบ ว่า ตปํ (ตะปัง) แปลว่าอะไร ท่านแปลว่า เจตนารมณ์อย่างแรงกล้า พระองค์ทรงมีความเพียร ไม่ว่าฝนตกแดดออก เสด็จฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนัก ๗๐ ปี จนกระทั่งพระวรกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง ภายหลังประชวร และจากนั้นพระราชดำเนินไม่ได้ต้องประทับรถเข็นพระที่นั่งแล้วก็ค่อยๆ ประชวรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะ ตรากตรำทรงงานเป็นเวลา ๗๐ ปี

ความไม่โกรธ – วันหลังใครจะโกรธแนะนำให้นั่งส่องกระจกสังเกตตนเอง ผมโมโหแต่ไม่ค่อยโกรธ โมโหเดี๋ยวก็หายอย่าไปใส่ใจ เกลียดอะไรต่ออะไรมันทรมานใจเรา มันไม่ได้ทรมานใจคนอ่น เพราะ ฉะนั้นคุมสติให้ดี

ความไม่เบียดเบียน – ถ้าเบียดเบียนกันไปเบียดเบียนกันมาไม่รู้จบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการยิงและระเบิดกันไปกันมา ฆ่ากันอยู่อย่างนี้ สงครามต่างๆทั่วโลก แล้วมีใครมีความสุขหรือไม่ บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะ ฉะนั้น อย่าเบียดเบียนกัน

ความอดทน – อย่าหวังเลยชีวิตเรานั้นเต็มไปด้วยความสุข ทุกข์ สุขมันจะสลับกันอยู่อย่างนี้ ขันติ แปลว่า อดทน และเฉยกับความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เฉย เมื่อนิ่งแล้วทุกอย่างจะผ่านไป ไม่ต้องอดทน เพราะ มันต้องฝืนใจ มันทำยาก เฉยดีกว่า ทำง่ายกว่าอดทน

ความเที่ยงธรรม – ไม่ยอมทำผิดไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้ง กฎหมาย ประเพณี ความเชื่อ ให้ดำรงตนอยู่ในความถูกต้องตลอดเวลา

พระองค์ มีรับสั่งว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ได้นั่งอยู่บนบัลลังก์อย่างเดียว ข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าทำสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศเท่านั้นบางที่ประโยชน์อาจเป็นส่วนเล็กๆที่เป็นประโยชน์ขอให้ทำ ถ้าทุกคนทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์บ้านเมืองก็จะสงบเจริญ ท่านเตือน เรื่อง ทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อประเทศชาติ ความเจริญของประเทศชาติ คือ ของส่วนรวม เกิดจากการกระทำ เราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบเมือง แล้วอย่าบอกว่านี่เป็นหน้าที่รัฐบาล คนนั้นคนนี้ไม่ใช่ แต่เป็นเราทุกคน เพราะฉะนั้นต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใครถนัดอย่างไหนทำอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเหมือนกัน แล้วพอประกอบส่วนขึ้นมาบ้านเมืองก็อยู่ได้ เมื่อเราอยู่ได้ลูกหลานก็อยู่ได้ นี่คือส่วนรวม ถ้าเราทิ้งขยะสักชิ้นหนึ่งเท่ากับทิ้งใส่หน้าเรา เพราะเราก็อยู่ในแผ่นดินนั้น ไม่ได้ไปไหน ให้ยึดมั่นผลประโยชน์แผ่นดิน ความถูกต้องเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญของการปฏิบัติงานของข้าราชการ เพราะ การยยึดมั่นทำให้จิตใจพากเพียร ปฏิบัติให้บรรลุและสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหายได้ ข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดสำคัญทั้งนั้น ทุกคนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน หมอผ่าตัดมือเยี่ยมแต่ไม่มีพยาบาลคอยส่งเครื่องมือให้หมอจะผ่าตัดไม่ได้ ดังนั้น ต้องปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง เสียสละและระมัดระวังให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงตรงระลึกถึงสิ่งที่ทำอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำเป็นทุกข์สุขของประชาชน เพราะอาจจะทำให้เจริญหรือเสื่อมก็ได้”

Note : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับการท่องเที่ยวเชิงความรู้ (Knowledge Based Travel) และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomic Tourism)

ข้อมูล

หนังสือสำนักงานจังหวัด ที่ ตง 0017.2/ว 263 ลงวันที่ 17 มกราคม 2565 เรื่อง ประชาสัมพันธ์โครงการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

นิตยสารคิด Creative Thailand สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ “ก้าวตาม ๙ ถอดวิธีคิดเชิงออกแบบ” ธันวาคม 2559 ปีที่ 8 ฉบับที่ 3

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ภักคีรี (2562) การบริหารงานท้องถิ่นกับภูมิปัญญาไทย (Local Administration With Thai Wisdom) : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หนังสือ ชุด K.I.N.G. By ทีม a day และ คณะทำงาน www.weloveking.org

วารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2564

 5,500 ผู้เข้าชมทั้งหมด,  2 ผู้เข้าชมวันนี้

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *