วันสำคัญของชาติเดือนธันวาคม

วันชาติ

ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ในประเทศไทยเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เดิมกำหนดเป็นวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 โดยเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเริ่มงานฉลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ต่อมาใน พ.ศ. 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทน โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไป นั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเด็น ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้ – ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503

ทั้งนี้ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 คือวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ดังนั้นวันชาติ จึงตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

วันพ่อแห่งชาติ

ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 (เลข 9  คือ เลขมงคลของไทย)  ซึ่งเป็นเลขรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา หลักการเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติขึ้น เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว สังคม ที่ผู้เป็นลูกจะต้องเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “วันพ่อ”

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้มีการประกาศจากรัฐบาลของประเทศไทยว่า “วันพ่อแห่งชาติ” ของประเทศไทย จะยังคงไว้ ให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีต่อไปตามเดิม

วัตถุประสงค์ 1.เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 2.เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม 3.เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ 4.เพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในฐานะหัวหน้าครอบครัว

พ่อไม่ได้ไปไหน พ่ออยู่ในใจเสมอ
ในความสูงต่ำล้ำเลอ ในน้ำตาเอ่ออาลัย

ในฟ้าในดินยินดี ในทุกทุกที่ที่ให้
ในความห่างไกลแสนไกล และในความใกล้ชิดกัน

พ่อมาเตือนให้ได้รู้ มาอยู่แม้ในความฝัน
ในความปรีดาสารพัน ในความโศกศัลย์ลึกซึ้ง

พ่อไม่ได้ไปไหน พ่อยังอยู่ให้คิดถึง
ในโลกอลวนอลอึง มีพ่อเป็นหนึ่งในใจ

ผู้แต่งกลอน : อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ

เพลงพ่อของแผ่นดิน

https://www.youtube.com/watch?v=6Of7kevpqqI

วันรัฐธรรมนูญ

ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฏหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย พระองค์ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรก” พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 10 ธันวาคม 2475

วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า สิน มีชื่อภาษาจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน  พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ นายไหฮอง ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นางนกเอี้ยง  ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ 3)  ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช “สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการ

การกู้เอกราช  เมื่อปี พ.ศ. 2309  พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ  และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310  เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย  ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้  พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว  จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา  และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี  แล้วยกทัพกลับไปตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยา  ทัพของพระยาตากสามารถตีพม่าจนแตกพ่ายไป  พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น.

การสร้างและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง  หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว  พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะ ฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้  พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี  แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  ทรงพระนามว่า  พระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองกรุงธนบุรีอยู่ 15 ปี  นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี

พระราชกรณียกิจ อื่น ๆ นอกจากจะทรงกู้เอกราชและทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว  พระองค์ยังได้ขยายอาณาเขตโดยตีเวียงจันทน์ได้และอัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานไว้ที่เมืองหลวง  ทรงทำนุบำรุงศาสนาและทรงส่งเสริมให้คนแต่งหนังสือต่างๆ ขึ้น  เพราะหนังสือตำราอันมีค่าถูกพม่าเผาไปเกือบหมด  ทรงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างดีแม้ว่าจะต้องทำสงครามกับพม่า ตลอดเวลาก็ตาม

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระราโชบายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ แบบพ่อปกครองลูก ไม่ถือพระองค์ มักปรากฏพระวรกายให้พสกนิกรเห็น และมักถามสารทุกข์สุขดิบของพนกนิกรทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า

พระเดียวบุญลาภเลี้ยง ประชากร

เป็นบิตุมาดร ทั่วหล้า

เป็นเจ้าและครูสอน สั่งโลก

เป็นสุขทุกข์ถ้วนหน้า นิกรทั้งชายหญิง

ข้อมูล

ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org

ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง https://www.m-culture.go.th/phatthalung

คมชัดลึก https://www.komchadluek.net/

 4,897 ผู้เข้าชมทั้งหมด,  1 ผู้เข้าชมวันนี้

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *