SMART CITY : เมืองอัจฉริยะ

นิยาม “เมืองอัจฉริยะ” เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” อย่างเต็มตัว โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในระยะแรกได้พัฒนาแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ  โดยมีแผนในปี 2562 เตรียมจะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายในปี 2565 จะขยายไปทั่วประเทศ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 100 พื้นที่

ลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน คือ

  1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
  2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
  3. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
  4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
  5. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living
  6. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
  7. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) หมายถึง เมืองที่คำนึงถึง ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็น ระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหาร จัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่ม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) หมายถึง เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น

พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) หมายถึง เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุล ระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) หมายถึง เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) หมายถึง เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) หมายถึง เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) หมายถึง เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

กระทรวงมหาดไทย จับมือ การอุดมศึกษาฯ นำเทคโนโลยี สวทช. พัฒนาเมืองอัจฉริยะช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง นับเป็นความร่วมมือกันทางด้านบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ หรือ Smart City ของประเทศไทย โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงนามความร่วมมือใน “โครงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมืองและบริการประชาชน” เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของเนคเทคภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้นมาใช้ในการพัฒนาเมือง เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยี Big Data ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชนมาส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปใช้ประโยชน์

โดยความร่วมมือดังกล่าวนำร่องด้วยแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ให้ประชาชนใช้แจ้งปัญหาและข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชน และระบบ Traffy Waste เครื่องมือบริหารจัดการการเก็บขยะ ช่วยให้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue และระบบ Traffy Waste เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่ม Traffy City Platform หรือแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยเนคเทค สวทช. นำโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ซึ่งจุดเด่นของเทคโนโลยีอยู่ที่การเพิ่มความเป็นอัจฉริยะหรือความสมาร์ทให้กับเมืองโดยเชื่อมสิ่งที่ประชาชนพบเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงนำส่งไปให้ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเมืองด้วยความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายที่เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อน ตอบสนองจุดที่เป็นปัญหาและสร้างความยุ่งยาก (Pain Point) ของประชาชนผู้อยู่อาศัย พนักงานผู้ดูแล และผู้บริหารได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มแจ้งซ่อมและบริหารจัดการปัญหาเมือง เป็นแอพพลิเคชั่นรับเรื่องแจ้งซ่อมและบริหารจัดการปัญหา ที่ช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา ทำให้ผู้บริหารเมืองเข้าถึงใจของประชาชน โดยเพิ่มช่องทางแจ้งปัญหาเมืองจากประชาชนถึงเจ้าหน้าที่โดยตรง โดยหลังแจ้งปัญหาแล้วประชาชนยังสามารถติดตามสถานะการดำเนินการแก้ไขได้ผ่าน LINE@ และแอพพลิเคชั่น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะได้ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับบริหารจัดการปัญหาของประชาชน เช่น ภาพถ่ายตำแหน่งบนแผนที่ มีผลให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ปัญหาได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากผู้บริหารมีภาพรวมและข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในอาคาร สำนักงาน คอนโดฯ หมู่บ้าน โรงงาน โรงเรียน และโรงพยาบาลโดยแพลตฟอร์มการสื่อสารดังกล่าว สามารถใช้งานได้โดยการแจ้งปัญหาผ่านแอพพลิเคชั่นหรือผ่าน Line Chat ถ่ายรูปปัญหา ตำแหน่งที่เกิดปัญหา พร้อมการแจ้งเตือน รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าของการแก้ไข ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบสามารถนำมาเป็นบทวิเคราะห์ทางสถิติที่ช่วยรวบรวบข้อมูลปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาได้

ส่วน Traffy Waste ระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ เป็นแพลตฟอร์มบริหารงานและวางแผนจัดเก็บขยะ ด้วยเทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลจากการติดตามตำแหน่งรถเก็บขยะด้วย Multi-GNSS บันทึกเส้นทางและประวัติการเก็บขยะ วิเคราะห์พฤติกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะ ประชาชนและเจ้าหน้าที่สามารถรับการแจ้งเตือนจุดเก็บขยะที่สนใจได้ สามารถทำงานร่วมกับระบบ Traffy Fondue โดยแจ้งปัญหาขยะล้นถังและขยะเกลื่อนกลาด ผ่าน LINE@ และแอพพลิเคชั่นได้ ทำให้ประชาชนค้นหาจุดทิ้งขยะใกล้บ้านพร้อมเวลาจัดเก็บประจำ ตรวจสอบประวัติและสถิติการเก็บขยะ รับแจ้งเตือนการเก็บขยะผ่าน LINE และช่วยรายงานขยะล้นถัง ขยะเกลื่อนกลาด ผ่าน Traffy Fondue ได้ โดยทางเทศบาล อบต. และนิคมอุตสาหกรรม จะมีข้อมูลภาพรวมการจัดเก็บขยะและประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ทราบพฤติกรรมทำงานของรถเก็บขยะ รวมถึงรับรู้จุดแจ้งเตือนเก็บขยะสำคัญที่ไม่ถูกจัดเก็บ พร้อมยังสามารถบันทึกประวัติการจัดเก็บและสถิติเก็บขยะ พร้อมแนะนำเส้นทางที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ให้บริการจัดเก็บขยะทั้งที่เป็นส่วนภาครัฐ (การปกครองส่วนท้องถิ่น นิคมอุตสาหกรรม) และภาคเอกชน (ผู้ให้บริการจัดเก็บขยะ ผู้ให้เช่ารถขยะสำหรับใช้บริหารและติดตามการใช้งานทรัพยากร เช่น คน และรถขยะ) สามารถนำผลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนค่าน้ำมันได้

ประกาศ Smart City

บทความเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ

ข้อมูล :

เมืองอัจฉริยะประเทศไทย : https://smartcitythailand.or.th/

สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย : http://www.stabundamrong.go.th/

Green Network : https://www.greennetworkthailand.com/

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *