หลักสูตรการจัดการบัณฑิต

ประวัติความเป็นมาของหลักสูตรการจัดการบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหารฮาลาล 

หลักสูตรการจัดการบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565 จากเดิมหลักสูตร พ.ศ.2560 เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตที่มีจิตบริการและโดดเด่นด้านบุคลิกภาพ สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กร สร้างสมรรถนะความเชี่ยวชาญด้านการจัดการธุรกิจ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการเจรจาต่อรอง ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถเรียนรู้ มีความเข้าใจและอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างของวัฒนธรรม หลักสูตรมีแนวทางการฝึกปฏิบัติให้มีความชำนาญที่สามารถสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงานในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหารฮาลาล หลักสูตรมุ่งเน้นการเตรียมบุคลากรและความพร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดการผลิตอาหารฮาลาลภายในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักสูตรมีแนวคิดในการผลิตผลิตบัณฑิตที่มีความสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของตลาดและความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารฮาลาลในอนาคต

รายละเอียดหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565)

 1. ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Management Program

2. ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ภาษาไทยชื่อเต็ม : การจัดการบัณฑิต
ชื่อย่อ : กจ.บ.
ภาษาอังกฤษชื่อเต็ม : Bachelor of Management
ชื่อย่อ : B.M.

 3. จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร

ไม่น้อยกว่า 129 หน่วยกิต

4. รูปแบบของหลักสูตร

4.1 รูปแบบ: หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี
4.2 ประเภทหลักสูตร หลักสูตรปริญญาทางวิชาการ
4.2 ภาษาที่ใช้: ภาษาไทย
4.3 การรับเข้าศึกษา: รับนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร

5. ปรัชญาของหลักสูตร

บัณฑิตที่เป็นนักการจัดการ มีจิตบริการ มีความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร สามารถเรียนรู้อยู่ร่วมบนความต่างของวัฒนธรรม

6. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีสมรรถนะที่พึงประสงค์ ดังนี้

6.1 เป็นผู้มีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทักษะในการปฏิบัติทางด้านการจัดการได้อย่างถูกต้อง
6.2 เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมและมีจิตบริการ
6.3 มีภาวะผู้นำและสามารถปรับตัวภายใต้การเรียนรู้อยู่ร่วมบนความต่างของวัฒนธรรม
6.4 มีทักษะการสื่อสารในการทำงานร่วมกับบุคลากรต่างสาขาอาชีพได้
6.5 มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและประยุกต์ใช้ในการทำงานได้
6.6 สามารถบูรณาการองค์ความรู้และทักษะทางการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง

7. อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

7.1 เจ้าหน้าที่/พนักงานควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการฮาลาล
7.2 เจ้าหน้าที่/พนักงานโรงงานผลิตอาหารหรืออาหารเสริมฮาลาล
7.3 เจ้าหน้าที่/พนักงานฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหารฮาลาล
7.4 ผู้ประกอบการธุรกิจหรือผู้ประกอบการร้านอาหารฮาลาล

8. คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

8.1 นักศึกษาไทย

1) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ

2) สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากสถาบันที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้การรับรอง หรือ

3) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศการรับสมัครสอบวัดความรู้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

4) คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ว่าด้วย การจัดการศึกษา ระดับปริญญาตรี (ภาคผนวก ก) และข้อบังคับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ว่าด้วย การจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี (ฉบับที่ 2) (ภาคผนวก ข) และข้อบังคับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ว่าด้วย คลังหน่วยกิตเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ภาคผนวก ค)

8.2 การคัดเลือกโดยการสอบสัมภาษณ์ โดยพิจารณาจากบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความรู้และความสามารถ

8.3 กรณีนักศึกษาต่างชาติต้องผ่านการทดสอบวัดความรู้ภาษาไทย โดยมีคะแนนการทดสอบเป็นไปตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

 180 ผู้เข้าชมทั้งหมด,  1 ผู้เข้าชมวันนี้